บทความที่ได้รับความนิยม

วันอาทิตย์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

คุณจะทำอย่างไรเมื่อ ….นายจ้างลดเงินเดือนและเวลาทำงานลง?




ในสภาวะเศรษฐกิจที่ธุรกิจต้องถูกผลกระทบอันสืบเนื่องมาจากปัญหาบ้านเมืองและสถานการณ์ในปัจจุบันอาจสร้างข้อจำกัดให้กับบางธุรกิจ จนกระทบต่อความมั่นคงและสถานะการไหลเข้าของรายได้องค์กร และคุณจะทำอย่างไรเมื่อ ….นายจ้างลดเงินเดือนและเวลาทำงานลง

ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมาจนกระทั่งขณะนี้ ในบางองค์กรซึ่งถูกผลกระทบจากพิษของการเมืองถือโอกาสเขย่าสนิมอันเกิดจากรูปแบบวัฒนธรรมในองค์กรที่จับติดอย่างแน่นหนามาเป็นเวลานานซะใหม่ มีการปฎิรูปองค์กรขนาดใหญ่หรือในความรู้สึกของพนักงานกินเงินเดือนว่า ไล่ออกทางอ้อม  เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว หลายคนเริ่มคิดหาทางขยับขยายหางานใหม่ คำถาม จะทำอย่างไรหากคุณถูกผลกระทบเหล่านี้

เรื่องมีอยู่ว่า บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งนายจ้างอ้างกับลูกจ้างว่า บริษัทประสบปัญหาถูกผลกระทบจากวิกฤติบ้านเมืองและเศรษฐกิจ และเพื่อความอยู่รอดของบริษัท จึงต้องลดเงินเดือนและเวลาการทำงานลง  50 % หากมีสภาพคล่องตัวแล้วบริษัทนจะปรับเงินเดือนให้ตามเดิม ในทรรศนะของพนักงานท่านนี้คิดว่าไม่มีหลักประกันความมั่นคงให้ลูกจ้างเลย และลูกจ้างจะทราบได้อย่างไรว่าบริษัทมีสภาพคล่องแล้ว หากนายจ้างไม่ยอมปรับให้เท่าเดิมจะทำอย่างไร? นายจ้างไม่ได้ลดเงินเดือนพนักงานทุกคนในบริษัท ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าเหมือนกับการบีบออกโดยไม่ต้องจ่ายชดเชย ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง จะบอกนายจ้างให้เลิกจ้างแล้วจ่ายค่าชดเชยตามระยะเวลาการทำงานได้ไหม ลูกจ้างมีสิทธิ์อะไรบ้างตามกฎหมาย

นายจ้างไม่มีสิทธิ์ลดเงินเดือนหากลูกจ้างไม่ยินยอมใช่ไหม  ลูกจ้างควรทำอย่างไร  การที่นายจ้างลดเงินเดือนลง 50 % สามารถทำได้ไหม หากลูกจ้างจำต้องยอมเซ็นต์เอกสารรับทราบ (ทั้งๆ ที่เงินที่ได้รับไม่พอจ่ายค่าครองชีพของลูกจ้างในแต่ละเดือน) การที่นายจ้างมีเอกสารแจ้งลดเงินเดือนและเวลาการทำงาน ต้องแจ้งล่วงหน้ากี่วัน  กรณีแบบนี้ลูกจ้างสามารถไปทำงานที่อื่นที่มีลักษณะงานเหมือนที่ทำอยู่ได้ไหม (ตามกฎระเบียบ พนักงานไม่สามารถไปทำงานที่อื่นที่มีลักษณะหรือประเภทเดียวกันได้ เพราะจะถูกมองว่าขัดต่อผลประโยชน์ของบริษัทได้) อาจจะเป็นข้ออ้างของนายจ้างที่จะเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ ลูกจ้างควรทำอย่างไร พนักงานรายเดือนบางคนจะถูกกลับไปเป็นรายวันโดยจ่ายเงินที่ 20 วัน ต่อเดือน บริษัททำได้มั้ย


กรณีตามปัญหาที่เล่ามาทั้งหมดเนี่ยนะคะเป็นเรื่องที่นายจ้างปรับลดเงินเดือนค่าจ้างและเวลาทำงาน โดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง นายจ้างไม่อาจกระทำได้โดยชอบเป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานค่ะ เป็นคดีที่พิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน หรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ลูกจ้างย่อมมีสิทธิฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานเพื่อปฎิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาจ้าง แรงงานต่อไป ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8(1) ค่ะ
กำหนดวันและเวลาทำงาน รวมทั้งค่าจ้างย่อมเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง นายจ้างจะทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมที่มีผลใช้บังคับแล้วในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างนั้นไม่ได้ ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 มาตรา 20 ดังนั้น เมื่อมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกำหนดวันเวลาทำงานปกติเดิม ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ ต่อมานายจ้างยกเลิกการทำงานวันเสาร์ แต่มีการลดเงินเดือนค่าจ้างลง กรณีจึงย่อมไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง สัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวจึงไม่ชอบ ไม่มีผลบังคับแก่ลูกจ้าง สำหรับการที่พนักงานรายเดือนถูกกลับไปเป็นรายวันโดยจ่ายเงินที่ 20 วัน ต่อเดือน มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างเช่นกัน นายจ้างไม่อาจกระทำได้โดยชอบเช่นกัน

ส่วนสถาณการณ์ลักษณะแบบนี้หากลูกจ้างยอมเซ็นต์ก็ถือว่าลูกจ้างยกผลประโยชน์ให้นายจ้างไปแต่ถ้าหากไม่พอใจลาออกและหากเกิดข้อผิดพลาดจากการทำงานอันเกิดจากความผิดหรือประมาทเลินเล่อของลูกจ้างในอดีต เมื่อนั่นอดีตนายจ้างได้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ว่าจ้างแล้ว ลักษณะนี้ นายจ้างเก่าก็สามารถที่ฟ้องไล่เบี้ยกับลูกจ้างให้ชดใช้ได้ ถ้าหากเรื่องนี้เกิดขึ้น  ลูกจ้างต้องแก้ต่างพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดแต่ความผิดในหน้าที่ของลูกจ้างอันเป็นทางให้ลูกจ้างพ้นความผิดได้นะคะ

ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นกับชีวิตการทำงานเป็นลูกจ้างของใคร ผู้เขียนก็อยากให้ทุกคนใช้สติ ไตร่ตรองให้รอบคอบนะคะและพยายามคิดหาทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับแก้ปัญหาของแต่ละคนไปว่าทางไหนมีประโยชน์กับชีวิตที่สุด ซึ่งผู้เขียนเองได้เคยเขียนเรื่องวิกฤตการเลิกจ้างไปแล้วว่าคนที่ใช้ชีวิตการเป็นลูกจ้างควรมีการเตรียมพร้อมรับมือในกรณีเกิดวิกฤตขึ้นกับองค์กรแล้วมีผลกระทบต่อการจ้างงานอย่างไร

เมื่อธุรกิจตั้งขึ้นมาเพื่อทำกำไรนั่นย่อมแสดงให้เห็นว่าหากวันใดที่ธุรกิจไม่ได้กำไรตามเป้าหมาย และมีการพิจารณาถึงการคงไว้ซึ่งการทำธุรกิจต่อไปหรือไม่  อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา คนที่เลือกทำงานในการเป็นลูกจ้างนั้นจึงต้องพัฒนาความสามารถของตนเองอยู่ตลอดเวลาเพื่อเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับตนเองและเป็นการเตรียมความพร้อมหากเกิดความไม่มั่นคงต่อสถานะการจ้างและสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการขยับขยายการเจริญเติบโตของตนเองจากลูกจ้างสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจได้ในอนาคต


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น